ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ผ่านมา วงการแพทย์ได้ให้ความสนใจเรื่องการปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อรักษาโรคที่มีอวัยวะพิการ  ได้แก่ โรคไตวาย  โรคตับวาย  โรคหัวใจพิการ  ความสำเร็จในการผ่าตัดและประสิทธิภาพของยากดภูมิคุ้มกันเพื่อให้ผู้ป่วยยอมรับอวัยวะที่ได้รับจากผู้อื่น  ทำให้การปลูกถ่ายอวัยวะประสบความสำเร็จและแพร่หลายไปทั่วโลก จนเกิดปัญหาการขาดแคลนอวัยวะขึ้นในปัจจุบัน  เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวนักวิทยาศาสตร์จึงหันมาสนใจการสร้างอวัยวะเทียมและค้นหาวิธีการที่จะซ่อมแซมหรือสร้างอวัยวะเหล่านั้นขึ้นมาใหม่  ความก้าวหน้าในเรื่องนี้ปรากฏเป็นรูปธรรมเมื่อนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดที่แยกได้จากตัวอ่อนของหนูในปี พ.ศ. 2524 ซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนของมนุษย์ โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวสหรัฐอเมริกาจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซินเมื่อ พ.ศ. 2541 การค้นพบครั้งนี้ทำให้มีผู้สนใจทำวิจัยเกี่ยวกับเซลล์ต้นกำเนิดกันอย่างกว้างขวาง รวมทั้งมีความหวังที่จะใช้เซลล์ต้นกำเนิดมาใช้รักษาโรคต่างๆ ในมนุษย์ ทำให้เกิดศาสตร์แขนงใหม่ที่เรียกว่า Regenerative medicine ซึ่งมุ่งหวังที่จะหาวิธีการในการซ่อมแซมอวัยวะต่างๆ ของร่างกายที่ผิดปกติจากโรค ความเสื่อม  ความแก่  และอุบัติภัยต่างๆ  โดยกระบวนการในการซ่อมแซมอวัยวะต่างๆ ดังกล่าวอาจทำได้โดยการปลูกถ่ายเซลล์ใหม่เข้าไปเพื่อทำให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ในบริเวณที่ทำการปลูกถ่าย หรือในบางกรณีโดยการกระตุ้นให้เซลล์หรือเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงแบ่งตัว เพื่อที่จะซ่อมแซมบริเวณที่ผิดปกติ

เซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์คือ เซลล์ที่มีความสามารถในเจริญไปเป็นเซลล์หรือเนื้อเยื่อต่างๆ ได้หลายชนิด  เซลล์ต้นกำเนิดมีคุณสมบัติที่สำคัญ 2 ประการคือ 1) สามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้เป็นทวีคูณ โดยสามารถที่จะคงคุณลักษณะเดิมไว้ได้ในขณะที่เพิ่มจำนวน และ 2) สามารถเจริญเป็นเซลล์ที่จำเพาะชนิดใดชนิดหนึ่งหรือหลายชนิดได้เมื่อได้รับสิ่งกระตุ้นที่เหมาะสม  ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวทำให้วงการแพทย์คาดหวังว่าจะสามารถนำเซลล์ต้นกำเนิดชนิดต่างๆ มาใช้ในการรักษาโรคที่มีสาเหตุมาจากความเสื่อมหรือความเสียหายของอวัยวะ อาทิเช่น โรคพาร์กินสัน  โรคสมองเสื่อม  โรคมอเตอร์นิวโรน  โรคหลอดเลือดสมองตีบ  โรคเบาหวาน  โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด  โรคตับแข็ง  โดยการใช้สารกระตุ้นเพื่อเหนี่ยวนำเซลล์ต้นกำเนิดให้พัฒนาไปเป็นเซลล์หรือเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ ตามที่ต้องการ

อย่างไรก็ตามการใช้เซลล์ต้นกำเนิดในการรักษา ยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัย โดยเฉพาะงานวิจัยพื้นฐาน (basic research) ที่เกี่ยวข้องกับการเพาะเลี้ยงเซลล์ ตลอดจนการพัฒนาเซลล์ต้นกำเนิดให้เป็นเซลล์ที่ต้องการ ในปัจจุบันมีการทำวิจัยเกี่ยวกับเซลล์ต้นกำเนิดอย่างแพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยงานวิจัยทางด้านนี้ยังมีไม่มาก เนื่องจากประเทศไทยมีนักวิจัยที่เป็น basic scientist ที่เชี่ยวชาญทางด้านเซลล์ต้นกำเนิดไม่เพียงพอ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มีความพร้อมที่จะเป็นผู้นำในการทำงานวิจัยเกี่ยวกับเซลล์ต้นกำเนิด มีห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน GMP และมีเครื่องมือเครื่องใช้และอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นอย่างเพียงพอ มีอาจารย์แพทย์ที่เป็น clinician ที่สนใจจะนำเซลล์ต้นกำเนิดมาใช้ในการรักษา มีผู้ป่วยจำนวนมากที่เป็น candidate ที่จะได้รับการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดบำบัด แต่ยังขาดแคลนแพทย์ที่เป็นนักวิจัย และ นักวิจัยที่เป็น basic scientist ที่มีความรู้ความชำนาญทางด้านเซลล์ต้นกำเนิด ทำให้งานวิจัยทางด้านนี้ไม่ก้าวหน้าไปอย่างที่ควรจะเป็น

ด้วยเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2553 ศูนย์ความเป็นเลิศทางงานวิจัยสเต็มเซลล์ของศิริราช (Siriraj Centre of Excellence for Stem Cell Research, SiSCR) จึงได้รับการก่อตั้งขึ้นที่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อรวบรวมนักวิจัยที่มีความรู้ความชำนาญในด้านการทำวิจัยเซลล์ต้นกำเนิด เพื่อทำงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดในประเทศไทยให้มีมาตรฐานและความก้าวหน้า ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีเซลล์ต้นกำเนิดที่มีศักยภาพในการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาการวินิจฉัยและการรักษาฟื้นฟูสภาวะเสื่อมของเนื้อเยื่อและอวัยวะที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยในปัจจุบันให้ดีขึ้น โดยศูนย์ความเป็นเลิศทางงานวิจัยสเต็มเซลล์ของศิริราช มีความมุ่งหมายจะเป็นผู้นำทางการวิจัยเกี่ยวกับเซลล์ต้นกำเนิดในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ รวมทั้งจะเป็นศูนย์ในการฝึกอบรมเพื่อสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความชำนาญทางด้านเซลล์ต้นกำเนิด  และจะเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาความร่วมมือในการทำวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย ผ่านทาง เครือข่ายงานวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งเป็นแหล่งให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องทันสมัยเกี่ยวกับเซลล์ต้นกำเนิดให้กับประชาชนผู้สนใจโดยทั่วไปเพื่อให้สังคมไทยสามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเซลล์ต้นกำเนิดที่เป็นความหวังใหม่ของวงการแพทย์ได้อย่างเหมาะสม